THAI ELEPHANT CONSERVATION CENTER

ประชุมช้างแห่งชาติ 2566

“ช้างเอเชีย” มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ปัจจุบันมีการกระจายตัวอยู่ใน ๑๓ ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฐาน บังคลาเทศ พม่า จีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยสำหรับประเทศไทยช้างถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณีและสังคมไทยมาอย่างยาวนาน คนไทยเรียนรู้ที่จะนำช้างมาฝึกเพื่อใช้งานตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อเป็นพาหนะในการศึกสงครามและการขนส่งต่างๆ ต่อมาได้มีการนำช้างมาใช้งานในการชักลากไม้ออกจากป่าลึกเพื่อนำไปแปรรูป ก่อให้เกิดเป็นอาชีพหลักของช้างบ้านในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งเมื่อมีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ช้างส่วนมาก ที่เคยชักลากไม้จึงเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวและกลายมาเป็นอาชีพส่วนมากของช้างบ้านในปัจจุบัน นอกจากการ นำช้างมาฝึกเพื่อใช้งานแล้ว คนไทยยังมีการสั่งสมภูมิปัญญาในการดูแลให้ช้างมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดเป็นวิถีชีวิตของ “ช้าง” กับ “ควาญช้าง” ซึ่งมีความผูกพันธ์ใกล้ชิดอย่างแยกไม่ได้และถือเป็นสิ่งที่ควรค่า แก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่สังคมไทย

         ในโลกปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์มากขึ้น ในช้างก็เช่นกัน มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศหันมาใส่ใจและมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของช้างเลี้ยงผ่านการบังคับใช้กฏหมายหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น พระราชบัญญัติป้องกัน การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๗ กฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรฐาน สินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง โครงการอบรมให้ความรู้ในการดูแลช้าง ตลอดจนการให้ ความสำคัญกับวิชาชีพควาญช้าง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลช้างผ่านการกำหนดมาตรฐานอาชีพและ คุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง ทั้งหมดนี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายในการยกระดับการเลี้ยงดู ดูแลและใช้งานช้างบ้าน ให้มีมาตรฐานเพื่อให้ช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

         สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่มี ภารกิจในการอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพ รักษาพยาบาลช้างป่วย การรวบรวม องค์ความรู้ในการฝึกและดูแลช้าง การใช้งานช้างในรูปแบบเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลาง ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องช้างของไทยผ่านการจัดงานประชุมช้างแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ซึ่งถือเป็น อีกวาระหนึ่งที่บุคลากรในแวดวงช้างจะได้แสดงความคิดเห็น ถกเถียงตลอดจนหาทางออกในการแก้ไขปัญหา ต่างๆ ของช้างไทย เป็นเวทีให้นักวิชาการได้นำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับช้าง อีกทั้งเป็นโอกาส ให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการอนุรักษ์ช้างไทยในทุกมิติให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไป

วัตถุประสงค์

1) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นเกี่ยวช้างในประเทศไทย และร่วมกันหารือถึงแนวทาง ในการอนุรักษ์ช้างไทยรวมถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างให้อยู่คู่สังคมไทย

2) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงช้างและการจัดการด้านสุขภาพของช้างไทย 

3) เพื่อเผยแพร่ผลงาน งานวิจัยที่เกี่ยวกับช้างในทุกมิติ

4) เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนในการอนุรักษ์ช้างไทย