THAI ELEPHANT CONSERVATION CENTER

โครงการฝึกช้างและพัฒนาคุณภาพช้างเลี้ยง ( 5 เชือก)

โครงการฝึกช้างและพัฒนาคุณภาพช้างเลี้ยง ( 5 เชือก) สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

1.  หลักการและเหตุผล  

                ในอดีตช้างมีความสำคัญในด้านการศึกสงคราม เคยช่วยพระมหากษัตริย์ไทยกอบกู้เอกราช และได้ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2544 เป็นต้นมา ด้วยที่ประเทศไทยเคยมีช้างเป็นจำนวนมาก และมีความผูกพันกับคนไทยจนเสมือนหนึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวคนเลี้ยงช้าง ประกอบกับเป็นสัตว์ที่มีพละกำลัง ฉลาด นิสัยไม่ดุร้าย สามารถนำมาฝึกใช้งานได้ คนไทยในทุกยุคทุกสมัยจึงได้มีการนำช้างมาฝึกช่วยใช้งานต่างๆ หนึ่งในอาชีพที่เรามักจะนึกถึงและเกี่ยวข้องกับช้างคือ อาชีพการทำไม้ด้วยช้าง ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในแถบเอเชียที่ใช้ช้างในการลากไม้ ช้างจึงเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในงานอุตสาหกรรมทำไม้  ล่วงมาปี พ.ศ. 2512 ศ.ดร.อำนวย คอวนิช อดีตผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ก่อตั้งศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งแรกของโลกขึ้น เพื่อฝึกช้างช่วยในการทำไม้ และเพื่อดูแลลูกช้างและแม่ช้างได้ทำงานด้วยความปลอดภัย

                 ในปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลได้มีการปิดป่าสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ ช้างที่เคยมีงานทำอยู่ได้ตกอยู่ในสภาวะการตกงานอย่างกะทันหัน และไม่ใช่เพียงช้างเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องไปถึงควาญช้างและเจ้าของช้างที่ดูแลช้างอีกด้วย  ดังนั้นการดิ้นรนเพื่อการเอาตัวรอด เจ้าของช้างจึงได้มีการนำช้างไปลักลอบชักลากไม้ที่ผิดกฎหมาย บางคนใช้สารเสพติดหรือการบังคับทุกวิถีทางให้ช้างทำงานให้ได้มากที่สุด เพื่อความอยู่รอดของเจ้าของช้าง บางคนได้นำช้างของตัวเองเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว และมีบางเชือกได้กลายเป็นช้างเร่ร่อนย้ายจากป่าเข้าสู่ในเมือง หรือบางเชือกถูกขาย หรือบริจาคให้กับหน่วยงานของรัฐนำไปดูแลต่อไป  ด้วยเหตุผลหากจะนำช้างปล่อยกลับเข้าสู่ป่าอาจทำให้ไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะสภาพป่าไม้ที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของช้าง รวมถึงการฝึกช้างที่ไม่มีระบบมาตรฐานหรือหลักสูตรที่ยอมรับ มีการฝึกช้างแบบผิดวิธีจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต สวัสดิภาพของช้างจึงถูกสังคมจับตามองมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะชาวต่างประเทศ องค์กรรักษ์สัตว์และนักอนุรักษ์สัตว์ต่างๆ ที่ต้องการให้ช้างมีคุณภาพชีวิตและมีสวัสดิภาพที่ดี กอปรกับได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ปี พ.ศ. 2557  จึงได้มีการจัดระบบการฝึกช้างและสวัสดิภาพของช้างใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกและตอบคำถามได้ โดยไม่ทิ้งรากเง่าทางวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของไทยด้วย   

                สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ตระหนักเห็นความสำคัญของการฝึกช้างอย่างถูกวิธี มีระบบแบบแผน หลักสูตรเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของช้างในประเทศไทย ตลอดถึงคุณภาพชีวิตและความรู้การดูแลช้างอย่างถูกวิธีของควาญช้างไทยให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับยุคสมัย ทั้งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาของการฝึกช้างจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้เกิดการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกี่ยวกับวิธีการฝึกช้างเชิงบวกที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์เป็นหลัก เพื่อให้ช้างและคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของควาญช้างไทยให้เป็นที่ยอมรับ สามารถตอบคำถามแก่นักอนุรักษ์สัตว์ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมมากยิ่งขึ้น

2.  วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อฝึกสอนช้างของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ, ช้างเอกชน, ช้างบริจาค, ช้างของกลาง, ช้างระหว่างคดี, ช้างตกเป็นของแผ่นดิน, ช้างเจ้าของฝากเลี้ยง และช้างที่ผ่านการฝึกมาแล้วมาฝึกเพิ่มความสามารถพิเศษ หรือช้างที่ผ่านการฝึกมาแล้วแต่ยังมีนิสัยดื้อ ดุร้าย ไม่เชื่อฟังควาญ ให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเพื่อใช้ในการท่องเที่ยว และเพื่อง่ายต่อการดูแลรักษาหากเกิดเจ็บป่วย

2.2 ช่วยให้ช้างเลี้ยงของไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมไทยได้อย่างมีความสุข

2.3 เพื่อสร้างบุคลากร คนดูแลช้างให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งความรู้ สติปัญญาและจิตใจ อนุรักษ์ช้าง

2.4 เพื่อให้ควาญช้างได้เรียนรู้การฝึกสอนช้างอย่างถูกวิธี มีแบบแผน ไม่เป็นการทรมานช้าง

2.5 เพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างแบบผสมผสานในแบบวิถีไทยที่ตระหนักถึงสวัสดิภาพช้างเป็นสำคัญ

2.6 เพื่อเป็นแบบอย่างการเลี้ยงช้างที่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน ให้กับสังคมคนเลี้ยงช้าง 

3.  ผู้เข้าร่วมโครงการ

ช้างจากปางช้างเอกชน ช้างหน่วยงานราชการ และช้างของสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ

4ระยะเวลาในการดำเนินการ

ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567

5. สถานที่จัดฝึกตามโครงการฯ 

สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ  องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

6. ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

งานโรงเรียนฝึกควาญช้างและช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์กาอุตสาหกรรมป่าไม้

7. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

7.1 มีช้างเลี้ยงทั้งของสถาบันฯและเอกชนที่ผ่านการฝึกสอนครบหลักสูตรของโครงการฯ  อย่างน้อย 5 เชือก

7.2 ช้างเชื่อฟังควาญช้าง นิสัยดี

7.3 ช้างอยู่ร่วมกับคนได้อย่างมีความสุข สามารถแสดงออกพฤติกรรมได้ตามธรรมชาติ

7.4 การฝึกสอนอย่างนุ่มนวล ไม่ทรมานช้าง ใช้วิธีการฝึกเชิงบวก

7.5 ควาญช้างและช้างได้เรียนรู้การสื่อสารระหว่างกัน ขั้นตอนวิธีการดูแลอย่างถูกต้องตามแบบแผน

7.6 ควาญช้างมีทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงช้างอย่างถูกวิธี

7.7  สามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีการเลี้ยงช้าง ให้คงอยู่คู่กับคนไทยได้บนพื้นฐานของความเข้าใจในสวัสดิภาพของช้าง

7.8  สังคมไทยให้การยอมรับและสามารถต่อยอดทางธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลช้างได้อย่างเมตตา และถูกต้องตามธรรมชาติของช้าง

7.9 เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างสถาบันฯ กับปางช้างต่างๆ และควาญช้าง

8. การประเมินโครงการ

8.1  แบบประเมินและแบบทดสอบช้างระหว่างการฝึก 7 วัน, 30 วัน 

8.2  แบบประเมินผลหลังการฝึกช้าง  60 วัน


คุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของช้างที่จะเข้าร่วมโครงการฝึกช้างและพัฒนาคุณภาพช้างเลี้ยง ( 5 เชือก ) งบอุดหนุนรัฐบาล ปี พ.ศ. 2567

  • ช้างต้องมีอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป หรือ สัตวแพทย์และคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้เข้าฝึกได้ ในกรณีอายุยังไม่ครบ 3 ขวบ (ภายใต้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัด สวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 )
  • ช้างต้องมีตั๋วรูปพรรรณถูกต้อง ตรงกับช้าง (หากลูกช้างยังไม่มีตั๋ว ต้องนำตั๋วรูปพรรณของแม่ช้างมาประกอบและมีผู้นำท้องถิ่นหรือผู้ใหญ่บ้านรับรอง) หรือมีใบรับรองการตรวจดีเอ็นเอด้วย
  • ช้างต้องอยู่ในราชอาณาจักรไทย
  • เจ้าของช้าง หรือเจ้าของปางช้าง ต้องจัดหาควาญช้างมาอยู่ดูแลและฝึกสอนช้างตลอดหลักสูตร ทั้งนี้ สถาบันฯ สามารถยกเลิกบันทึกข้อตกลงทันทีและส่งช้างกลับภูมิลำเนา หากพบว่าไม่มีควาญช้างอยู่ดูแลในระหว่างการฝึก (ควาญช้างที่มาดูแลช้างต้อง ดูแลตนเองเรื่อง อาหารการกิน ทางสถาบันฯ ไม่มีค่าอาหาร เบี้ยเลี้ยงให้ มีเฉพาะที่พักและห้องน้ำให้)
  • ช้างทุกเชือกที่สมัครเข้าโครงการฯ ต้องได้รับการตรวจสุขภาพร่างกาย เจาะเลือด จากสัตวแพทย์และคณะกรรมการพิจารณา คัดเลือกก่อนเข้าโครงการฯ ทุกครั้ง
  • เจ้าของช้าง หรือเจ้าของปางช้าง หรือควาญช้าง ต้องยื่นใบคำร้องขอเข้าร่วมโครงการฯมายังสถาบันฯ ด้วยตนเองที่ สำนักงานโรงเรียนฝึกควาญช้างและช้าง ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยการคัดเลือกจะพิจารณาจากคุณสมบัติ ความพร้อมของช้าง และเจ้าของช้างเป็นสำคัญ
  • เริ่มรับใบคำร้องตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ในวันเวลาราชการ 

เอกสารประกอบการรับสมัคร

  • สำเนาตั๋วรูปพรรณช้าง จำนวน 3 ชุด  (เจ้าของช้างรับรองสำเนาถูกต้อง) หรือสำเนาตั๋วรูปพรรณแม่ช้าง (หากลูกช้างยังไม่มีตั๋วรูปพรรณ) จำนวน 3 ชุด (เจ้าของช้างรับรองสำเนาถูกต้อง)
  • สำเนาใบตรวจดีเอ็นเอช้างหรือแม่ช้าง จำนวน 3 ชุด (เจ้าของช้างรับรองสำเนาถูกต้อง) (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านเจ้าของช้าง อย่างละ 3 ชุด (รับรองสำเนาถูกต้อง)
  • ใบรับรองจากผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นต้นจำนวน 3 ชุด พร้อมสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน อย่างละ 3 ชุด (รับรองสำเนาถูกต้อง)

สมัครได้ที่ โรงเรียนฝึกช้างและควาญช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ 272 หมู่ 6 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง 52190

สอบถามได้ที่ สำนักงานโรงเรียนฝึกช้างและควาญช้าง โทรศัพท์ 054-829313  มือถือ 083-9195397  

อีเมล์ [email protected] , [email protected]

Line ID: mahout

หมายเหตุ โครงการฯ นี้เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆ จากเจ้าของช้าง/เจ้าของปางช้าง หรือควาญช้างทั้งสิ้น