THAI ELEPHANT CONSERVATION CENTER

สถาบันคชบาลแห่งชาติ ร่วมกับบริษัท พรีซิชั่น เวท จำกัด, เพนียดคล้องช้างหลวงอยุธยา และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวความสำเร็จด้านการพัฒนาแนวทางการรักษาช้างด้วยสเต็มเซลล์

11 มีนาคม 2568 – สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ส.คช.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่วมกับบริษัท พรีซิชั่น เวท จำกัด, เพนียดคล้องช้างหลวงอยุธยา และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวความสำเร็จด้านการพัฒนาแนวทางการรักษาช้างด้วยสเต็มเซลล์

นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมแถลง ได้แก่

ดร.น.สพ.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ส.คช.

รศ.ดร.สพ.ญ.อารีย์ ทยานานุภัทร์ ประธานบริษัท พรีซิชั่น เวท จำกัด

ผศ.ดร.สพ.ญ.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สพ.ญ.ลาดทองแท้ มีพันธุ์ เพนียดคล้องช้างอยุธยา

สพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์ หัวหน้างานโรงพยาบาลช้างลำปาง ส.คช.

สเต็มเซลล์ช้าง: ก้าวสำคัญของการรักษา

โครงการนี้เริ่มต้นจากการเก็บสเต็มเซลล์จาก พลายสรรพลักษณ์โสภณ ช้างแฝดเทียมคู่แรกของโลกจากเพนียดช้างอยุธยา (เกิด 7 มิ.ย. 67) และ พังรับอรุณ ลูกช้างของ ส.คช. (เกิด 11 ก.พ. 68) นอกเหนือจากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ ทีมวิจัยยังประสบความสำเร็จในการนำมาใช้รักษาโรคในช้างเป็นครั้งแรกของไทย ได้แก่ การรักษาแผลกระจกตาติดเชื้อ ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การรักษามดลูกอักเสบเรื้อรัง ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ

การรักษาด้วยสเต็มเซลล์ช่วยให้อาการของช้างดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันมีช้างที่ได้รับการรักษาแล้ว 11 เชือก ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการสัตวแพทย์ไทยในการดูแลและอนุรักษ์ช้างให้มีสุขภาพแข็งแรงต่อไป